อิทธิพลของมาริเนตติ ของ ฟีลิปโป ตอมมาโซ มารีเนตตี

แนวคิดฟิวเจอริสม์ของมาริเนตตินั้น ได้กลายมาเป็นที่ยอมรับของศิลปินอิตาลีรุ่นใหม่ เช่น อุมแบร์โต บอชโชนี, คาร์โร คารา, จีโน เซเวรินี โดยพวกเขาได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เกี่ยวกับจิตรกรฟิวเจอริสม์ (Manifesto dei pittori futurist) ในปี 1910 พร้อมกันนั้นในช่วงระหว่างปี 1910 - 1913 มาริเนตติยังได้มีโอกาสเดินทางไปบรรยายแนวคิดฟิวเจอริสม์ทั้งในรัสเซียและอังกฤษ ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานของศิลปินในกระแสฟิวเจอริสม์ของทั้งสองประเทศในเวลาต่อมา เช่น รูปแบบศิลปะแบบคูโบ-ฟิวเจอริสม์ (Cubo-Futurism) ในรัสเซีย และกระแสแบบคติวัฏฏารมณ์ (Vorticism) ในอังกฤษ เป็นต้น

ในช่วง"สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง" มาริเนตติถูกจับกุมในปี 1915 พร้อมกันนั้นเขายังได้ส่งเสริมให้ศิลปินในกระแสฟิวเจอริสม์สร้างสรรค์งานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงคราม ตัวอย่างเช่น "Canon en action" ของจีโน เซเวรินี นอกจากนี้ บทกวีของมาริเนตติยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักแต่งเพลงอย่าง ลุยจี รุสโซโล ได้เริ่มทดลองประพันธ์เพลงแนวใหม่ที่เรียกว่า "นอยส์มิวสิค" (noise music) พร้อมกับออกแถลงการณ์ " L'Arte dei Rumori" ในปี 1913 และตีพิมพ์ครั้งแรกโดยกลุ่มศิลปินดาด้า (Dada) ในปี 1916

อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดฟิวเจอริสม์ของมาริเนตตินั้น เป็นกระแสความเคลื่อนไหวหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะสมัยใหม่และวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งยังคงปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมร่วมสมัยในปัจจุบัน เช่น งานวรรณกรรมแนวไซเบอร์พังก์ เป็นต้น

ใกล้เคียง